เรื่องเล่าใต้ต้นทองกวาว บทที่ ๑๐
2 ตุลาคม 2561

เรื่องเล่าใต้ต้นทองกวาว ตำนานเจ้าอธิการทิม วัดไผ่ดำ
ตำนานทองเอน บทที่ ๑๐ เรื่อง "โจรทิม" จากโจรร้าย สมัย ร.๕
สู่ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดไผ่ดำ ต.ทองเอน ก่อนยุคหลวงพ่อเอก

     ในปี พ.ศ.๒๔๓๓ หรือเมื่อ ๑๒๙ ปีที่แล้ว เมื่อครั้ง สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ทรงดำรงตำแหน่ง อธิบดี กระทรวงธรรมการ และได้ทรงพบกับโจร ผู้ร้ายคนหนึ่งชื่อ ”นายทิม”เป็นโจรปล้น
ทรัพย์โหดร้ายที่อาละวาดอยู่แถวเมืองอินทบุรี เสียท่าถูกตำรวจจับได้ เลยติดคุกอยู่ตะราง เป็นเวลาหลายปี
ในสมัยโบราณนั้น คนติดคุกมักจะไม่ได้รับ การปลดปล่อยออกมาง่ายๆ บางทีก็มีการกำหนดเวลาโทษ
บางครั้งก็โดนโยนใส่ตะรางขังลืมเสียอย่างนั้น นายทิมติดคุกอยู่เป็นเวลานาน ถึง ๑๐ ปี

/data/content/434/cms/dfghklpqtu34.jpg

      ระหว่างนั้นก็ประพฤติตัวเป็นนักโทษดี ไม่ก่อปัญหาให้เป็นที่ยุ่งยากกวนใจแก่ผู้คุม และได้ฝึกหัด
วิชาจักสาน จนกลายเป็นนักจักสานที่มีฝีมือดีที่สุดในคุกนั้น นายทิมได้ยื่นหนังสือฎีกา ขอพระราชอภัยโทษ
ขอออกจากคุกเพื่อบวชเป็นพระภิกษุในวัด ได้พยายามจักสานของถวายให้ทรงเห็นฝีมือ และถ้าพระองค์
โปรดสิ่งนั้นจะขอพระราชทานโทษให้พ้นเวรจำ ออกบวชเป็นภิกษุจำศีลภาวนาต่อไป ไม่ประพฤติชั่วร้าย
เหมือนหนหลังจนตลอดชีพ

      เมื่อสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ฟัง ฎีกาของอ้ายโจรทิม ก็ค่อนข้างพอพระทัย เพราะนัยหนึ่ง
ผู้ร้ายคนนี้ก็ได้ถูกคุมขังมาเป็น เวลานานถึง ๑๐ ปีแล้ว อีกประการ ก็ได้ พยายามฝึกเรียนวิชาจนมีความสามารถ
เป็นพิเศษ จึงทรงพระกรุณาโปรดถามกรม พระนเรศวรฤทธิ์ ผู้บัญชาการกระทรวง นครบาล ไปสอบสวนว่าเป็นจริง
ดังอ้างหรือไม่ กรมพระนเรศวรฤทธิ์ก็ทรงรีบไปสอบสวนและรายงานว่าเป็นจริงดังฏีกา และได้นำกาน้ำร้อน
ที่สานด้วยหวายไม่รั่วมาถวายให้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพิจารณาอีกด้วย พระองค์ทรงทอดพระเนตร
สังเกตว่า นายโจรนี้มีฝีมือละเอียดจริง ก็นึกพอพระทัย โปรดกรุณาให้พ้นโทษออกจากคุกได้ทันที ทรงตรัสว่า
“มันพูดจริง เราก็จะให้มันเห็นผลความจริง”

      และทรงโปรดให้กรมพระนเรศวรฤทธิ์จัดพิธีบวช เป็นนาคหลวง บวชเป็นพระ ณ วัดพระเชตุพนฯ พระทิมบวช
เรียนอยู่ที่วัดพระเชตุพนฯได้ ๒ พรรษา ก็เกิดเจ็บอาพาธเป็นโรคเหน็บชา จึง อยากกลับไปอยู่เมืองอินทบุรีใกล้ญาติ
พี่น้อง เผื่อเกิดเจ็บไข้รุนแรง จะได้มีลูกหลานคอยช่วยเหลือ จึงขอประทานพระกรุณาจากกรม พระยาดำรงฯ ออก
จากวัดพระเชตุพนฯ ไปประจำอยู่ที่ วัดเมืองอินทบุรีแทน ครั้นถึง ร.ศ.๑๑๒ (พ.ศ.๒๔๓๖) เวลานั้นไทย เกิดกรณี
พิพาทกับฝรั่งเศส พระทิมมารออยู่ท้องพระโรง มาขอเฝ้าหมายจะถวายพระพรลาสึก อาสาไปรบกับฝรั่งเศสสนอง
พระเดชพระคุณพระเจ้าอยู่หัว เมื่อรบพุ่งเสร็จแล้ว ถ้ารอดชีวิต ก็จะกลับบวชอีกอย่างเดิม

      เมื่อความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระจุลเจ้าเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตรัสว่า “มนุษย์เรานี้ ถึงตก ต่ำจนเป็นผู้ร้ายแล้ว
ถ้ากลับใจได้จริงๆ ก็ยังเป็นคนดีได้” แต่พระองค์ทรงมีความสงสาร เหตุว่า พระทิมมิใช่คนหนุ่มฉกรรจ์เหมือนแต่ก่อน
จึงทรงห้าม มิให้พระทิมลาสิกขาบท พระทิมจึงกลับไปจำวัด ที่เมืองอินทบุรีตามเดิม เวลาผ่านไปไม่นาน พระทิมก็ถึง
แก่มรณภาพ ความทราบถึงพระองค์ ก็ทรงพระราชทานศิลาหน้าเพลิงกับผ้าสำหรับ ชักบังสุกุลเป็นของหลวง
พระราชทานเพลิงศพ

     เพราะฉะนั้น งานศพพระทิม ก็กลายเป็นอย่าง งานศพกรมการที่ได้พระราชทานสัญญาบัตร ด้วยมีข้าหลวง
พระราชทานเพลิงและมีกรมการ ไปช่วยงานเป็นเกียรติยศ "ความสามารถและความซื่อสัตย์ของโจรทิม" โจรทิม
มีความสามารถในการจักสานอย่าง ประณีต จนใช้เป็นเครื่องต่อรองขอให้ปล่อยตัว ออกจากคุกได้ และเป็นโจรที่มี
ความจงรัก ภักดี เป็นตัวอย่างที่บุคคลที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ เปรียบเทียบกับสุภาษิต โบราณว่า " ไม้ต้นคด
ปลายตรงยังดัดเอาได้ดี ถ้าปลายคด ถึงต้นจะตรงก็ใช้ไม่ได้" สิ้นเรื่องของโจรทิม นิทานที่ ๑๑ เรื่องโจรแปลก
ประหลาด เขียนโดย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์ เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพเท่านี้

/data/content/434/cms/acdgikmpuxy4.jpg
หลักฐานที่ ๑ คราวนี้มาถึงเอกสารหลักฐานบางอย่าง ที่ ค้นพบโดย คุณ โกศล ขันติทานต์ ที่สำนักหอ
จดหมายเหตุแห่งชาติ จึงขออนุญาตทำการสำเนาแล้วนำมาถวายไว้ที่วัดไผ่ดำ โดยสำเนา เอกสารนั้น ระบุไว้ว่า

        "ข้าพระพุทธเจ้า เจ้าพระยาวิชิตวงษ์วุฒิไกร ขอพระทานกราบทูล พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนสมมตอมราพันธุ์
ทราบฝ่าพระบาท ด้วยได้รับบอก พระยาโบราณบุรานุรักษ์ ผู้รั้งตำแหน่งข้าหลวงเทศาภิบาลสำเร็จราชการ มณฑล
กรุงเก่า ที่ ๑ / ๒๕๑ ลงวันที่ ๑๒ เมษายน ร.ศ.๑๒๕ ว่า ที่วัดไผ่ดำตำบลทองเอนท้องที่ อำเภออินทร์แขวงเมือง
สิงห์บุรี เป็นที่่สำนัก สงฆ์จำพรรษาอยู่ ๓๐ ปี
         บัดนี้ เจ้าอธิการทิม กับนายทายก ขอรับพระราชทานที่วิสุงคาม สีมายาว ๑๐ วา กว้าง ๗ วา เป็นที่วิสุงคาม
สีมาสำหรับพระสงฆ์จะได้ทำอุโบสถสังฆกรรมสืบไป
         ถ้ามีโอกาศอันควร ขอฝ่าพระบาทโปรดนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าลออง ธุลีพระบาท แล้ว
แต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เจ้าพระยาวิชิตวงษ์วุฒิไกร

/data/content/434/cms/cefhkmsu5678.jpg

หลักฐานที่ ๒
เป็นหลักฐานอ้างอิงจาก ประวัติหลวงปู่ โต๊ะวัดกำแพง ซึ่งเคยได้มาบรรพชาเป็น สามเณรเมื่อ
อายุ ๑๙ ปี และอุปสมบทเป็น พระภิกษุเมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๙ เวลา ๑๕.๐๐ น. ณ พัทธสีมา
วัดดงยาง ตำบลทองเอน อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี โดยมีพระวินัยธรกิ่ง วัดธรรมสังเวช ต.งิ้วราย อ.อินทร์บุรี
จ.สิงห์บุรี มีพระอธิการ ทิม วัดไผ่ดำ (ในหนังสือพิมพ์เขียนผิด ที่ตัด มา เขียนชื่อว่า พิมพ์) เป็นพระกรรมวาจาจารย์
ซึ่งทุกช่วงเวลาที่ปรากฏแต่ละเหตุการณ์ ก็เป็นช่วงเวลาที่ลงตัวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทุกประการ ซึ่งสามารถ
สันนิษฐานได้ว่า เหตุการณ์ต่อจาก เรื่องโจรทิม ของสมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ท่าน
ได้เล่ามาในหนังสือนิทานวรรณคดีนั้น คือ

     "โจรทิมหลังจากบวชเป็นพระทิมแล้ว ได้มาจำพรรษาอยู่วัดเชตุพน ๒ พรรษา ก็ได้ขอกราบลา มาจำพรรษา
ที่วัดไผ่ดำ และก็ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอธิการทิม เจ้าอาวาสวัดไผ่ดำ" 

      ซึ่งหลังจากพระอธิการทิมมรณภาพแล้ว ใน พ.ศ.๒๔๗๐ หลวงพ่อเอก ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส
รูปต่อมา จนบัดนี้ วัดไผ่ดำเปลี่ยนชื่อเป็น วัดกฤษณเวฬุพุทธาราม มี พระมหาสำราญ เป็นเจ้าอาวาส

/data/content/434/cms/bfhiklptvxz4.jpg
     อนึ่ง แอดมินฯ ลองตระเวนถามผู้เฒ่าผู้แก่ ที่มีอายุมากๆ ในบริเวณบ้านไผ่ดำ อย่างตาเจ้ย หรือคนอื่นๆท่าน
ก็ไม่ทราบความ ถึงเรื่องพระทิมแต่อย่างใด
    หมายเหตุ เป็นการสันนิษฐานของแอดมินฯ ที่พยายามประติดปะต่อเรื่องราวต่างๆ ให้มีความต่อเนื่อง
แต่ละช่วงเวลา ท่านใดมีคำเห็นแย้งเขียนส่งมาได้ครับ